
ประเทศไทยมีภูมิประเทศที่มีชายฝั่งยางประมาณ 3,148 กิโลเมตร ครอบคลุมตั้งแต่ภาคตะวันออก อ่าวไทยตอนบน ภาคใต้ ฝั่งอ่าวไทย และชายฝั่งทะเลอันดามัน ด้วยสภาพภูมิประเทศดังกล่าวเป็นระบบนิเวศที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวสูงและได้รับความนิยมจากทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เนื่องจากมีทรัพยากรชีวภาพที่สำคัญ อาทิ ป่าชายเลน ปะการัง หญ้าทะเล หาดหิน หาดทราย และหาดเลน มีเกาะใหญ่น้อยเป็นจำนวนมาก สามารถสร้างอาชีพและกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น อย่างไรก็ตามพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลเหล่านี้ได้รับอิทธิพลทั้งจากแผ่นดินและทะเล จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาด้านการกัดเซาะชายฝั่ง (Coastal Erosion) หรือการถอยร่นของชายฝั่ง (Retreat of Coastline) จากรายงานของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในปี พ.ศ. 2560 พบว่า จากชายฝั่งทะเลของประเทศไทย มีพื้นที่กัดเซาะชายฝั่ง 618 กิโลเมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 19.63 (ภาพที่ 1)
ซึ่งส่งผลกระทบต่อชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ตลอดแนวชายฝั่งมากกว่า 12 ล้านคน การกัดเซาะชายฝั่งจึงเป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศไทยซี่งส่งผลกระทบด้านลบในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างมหาศาล ทั้งการท่องเที่ยว อุตสาหกรรม เกษตรกรรม มาตรการในการป้องกันและบรรเทาปัญหานี้ด้วยการใช้โครงสร้างแบบแข็ง เช่น กำแพงคอนกรีตกันคลื่น แนวหินกันคลื่น เพียงอย่างเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในโครงการสำรวจและวิจัยนี้จึงมีแนวคิดพัฒนาไม้โกงกางเทียมซีออส ซึ่งถือว่าเป็นโครงสร้างแบบอ่อนมาใช้ศึกษาผลกระทบเพื่อบรรเทาปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง
โดยไม้โกงกางเทียมซีออสได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถบรรเทาปัญหานี้ได้ดีในพื้นที่เลนริมฝั่งทะเลและได้รับการขึ้นบัญชีนวัตกรรมแล้วในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2560 (รหัส 01010006) นอกจากนี้ยังได้ทดลองใช้นวัตกรรมดังกล่าวในพื้นที่หาดทรายริมฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย (เขาหลัก จ.พังงา) ผลการติดตั้งโกงกางเทียมซีออส ในรูปแบบตัว U (ภาพที่ 2)พบว่ามีประสิทธิภาพช่วยชะลอแรงคลื่นปะทะในแนวตั้งฉาก สามารถเร่งการดักตะกอนดินหลังแนวโกงกางเทียมซีออส เกิดตะกอนดินสะสมอย่างต่อเนื่อง มีความแน่นขึ้น 20 ซม. ภายใน 4-5 เดือน คุณภาพน้ำและดินตะกอนทั้งก่อนและหลังติดตั้งโกงกางเทียมซีออสอยู่ในเกณฑ์ปกติ ปริมาณโลหะหนักในดินตะกอนอยู่ในเกณฑ์ไม่เป็นมลพิษต่อสัตว์น้ำ สิ่งมีชีวิตหน้าดินสามารถดำรงชีวิตได้ปกติ
อย่างไรก็ตามมีความจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลการใช้งานไม้โกงกางเทียมนี้ในหลากหลายพื้นที่เพื่อประเมินประสิทธิภาพของการป้องกันการกัดเซาะในแต่ละพื้นที่ที่มีสภาพชายหาดและภูมิอากาศที่แตกต่างกัน โดยมีพื้นที่ศึกษาวิจัยนำร่อง
ซึ่งเป็นบริเวณที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงในช่วงมรสุม 5 แห่งที่ประสบปัญหากัดเซาะชายฝั่ง ได้แก่ จังหวัดพังงา เพชรบุรี ชลบุรี ระยอง และประจวบคีรีขันธ์ (ภาพที่ 3)

โครงการนี้เป็นการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนทางวิทยาศาสตร์ในการติดตามการกัดเซาะชายฝั่ง โดยการเก็บข้อมูลในแปลงไม้โกงกางเทียมซีออส เช่น ส่งภาพถ่ายสภาพแวดล้อม สำรวจสิ่งมีชีวิต สภาพอากาศ ฟ้าครึ้ม ฟ้าใส น้ำขุ่น น้ำใส ในแต่ละช่วงเวลา มีการแจ้งเตือนข้อมูลที่เกิดขึ้นไปยังผู้ดูแลระบบ เพื่อให้รับรู้ข้อมูลแบบ real-time ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดคลังข้อมูลจากการมีส่วนร่วมของชุมชนแล้ว ชุมชนยังมีมุมมองและแนวคิดใหม่ ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง
และร่วมกันเพิ่มพูนความหลากหลายทางชีวภาพในแปลงไม้โกงกางเทียมซีออส เช่น การปลูกพืชป่าชายหาด นอกจากนี้
ยังกระตุ้น ให้หน่วยงานท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ เพื่อให้ท้องถิ่นพัฒนาแนวคิดไปบริหารจัดการและใช้งบประมาณให้เกิด ประโยชน์สูงสุดต่อไป
